วิวัฒนาการการปกครองของไทย
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทรงมีพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์แต่เพียงประองค์เดียว ทรงใช้อำนาจทั้งในด้านนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ และทรงแต่งตั้งข้าราชการ ขุนนางไปปกครองหัวเมืองต่างๆในที่นี้อาจกล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายใดๆ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตรากฎหมาย ทรงตัดสินและพิจารณาอรรถคดี ทรงบริหารประเทศ ดังนั้นประชาชนจึงต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการ ใครผ่าผืนไม่ได้ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดและประชาชนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีรูปแบบ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ๔ สมัย ดังนี้ คือ
๑.๒.๑ สมัยอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๒๑)
๑.๒.๒ สมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐)
๑.๒.๓ สมัยอาณาจักรกรุงธนบุรีและ สมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕)
๑.๒.๔ สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และการเปลี่ยนแปลง
การปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ในที่นี้จะอธิบายวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของไทยโดยสรุป คือ
๑.๒.๑ สมัยอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ.๑๘๐๐-๑๙๒๑)
ประวัติอาณาจักสุโขทัยพอสังเขป ก่อนที่จะตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้นดินแดนบริเวณ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในอำนาจของกษัตริย์ขอมซึ่งแผ่อำนาจมาถึงละโว้(ลพบุรี)และลำพูน แต่ต่อมาเกิดกบฏหลายแห่งทำให้ละโว้ได้เป็นเอกราชระยะหนึ่ง ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ( พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๑) ตีเมืองต่างๆ คืนรวมทั้งสุโขทัย แต่ก็ทรงยกธิดาพร้อมทั้งพระขรรค์ชัยศรี แก่พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด โอรสพ่อขุนศรีนาวนำถมผู้ครองอาณาจักรเชลียง ( ปัจจุบันคืออำเภอสวรรคโลกในจังหวัดสุโขทัย) พร้อมทั้งตั้งให้เป็นใหญ่มีนามว่า “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” และจากนั้นพ่อขุนผาเมืองได้ร่วมกับพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาวเข้าตีเมืองต่างๆรอบสุโขทัยได้แล้วจึงเข้าตีเมืองสุโขทัย ซึ่งมีผู้ปกครองชื่อขอมสบาดโขลญลำพง เมื่อราวปีพ.ศ. ๑๗๘๑-๑๗๙๒ เมื่อได้รับชัยชนะจากขอมสบาดโขลญลำพง และได้สุโขทัยแล้วจากนั้นเหล่าขุนนางก็อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวเป็น “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” เมื่อแรกตั้งสุโขทัยเป็นอาณาเขตนั้น สุโขทัยยังคับแคบมีพื้นที่เพียงเมืองเชลียง เมืองแพร่ ทางใต้คงลงมาถึงเมืองพระบางที่ปากน้ำโพ ทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียงเมืองตาก ในช่วงเวลานั้น ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดไม่ยอมอยู่ในอำนาจจึงยกทัพมาตีเมืองตาก กองทัพพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เสียท่า แต่พระโอรสองค์น้อยเข้าชนช้างชนะขุนสามชน พวกเมืองฉอดจึงแตกพ่ายไป ต่อมาพ่อขุนบานเมืองเสวยราชย์ต่อจากพระบิดาจนสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๒ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ครองราชย์ต่อมาจนถึง ปีพ.ศ. ๑๘๔๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ขยายพระราชอาณาเขตออกไปกว้างขวาง ดังปรากฏใน ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่าทางทิศตะวันออกได้เมืองสระหลวง สองแคว(พิษณุโลก) ถึงฝั่งโขง เวียงจันทน์ และเวียงคำ ทิศใต้ ได้เมืองคณฑี(กำแพงเพชร) พระบาง(นครสวรรค์) แพรก(ชัยนาท) สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราชจนสุดฝั่งทะเล ทิศตะวันตกได้เมืองฉอด หงสาวดี ถึงฝั่งมหาสมุทร ทิศเหนือได้เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลั่ว(ปัว)เลยฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง) ต่อมากรุงสุโขทัยเริ่มเสื่อมลงในสมัยพระยาเลอไทย พระยาลิไทย เคยปรากฏว่าต้องยอมเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาอยู่สิบปี ระหว่างพ.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๓๑ แต่ในช่วงรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พระยาไสยลือไทย) กลับเข้มแข็งขึ้นแต่เมื่อทรงสวรรคตก็เกิดการชิงราชสมบัติ สมเด็จพระนครินทรธิราชต้องขึ้นไปห้ามปรามและตั้งพญาบรมปาลเป็นเจ้าเมืองขึ้นต่ออยุธยาจนสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๑ จึงสิ้นราชวงศ์พระร่วง
ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองและทรงใช้อำนาจนี้ในการออกกฎหมายเรียกว่าอำนาจนิติบัญญัติ ทรงบริหารกิจการบ้านเมือง เรียกอำนาจนี้ว่า อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน และ ทรงพิจารณาอรรถคดีทรงพิพากษาและตัดสินคดีความต่างๆ ทุกวันธรรมะสาวนะด้วยพระองค์เอง เรียกอำนาจนี้ว่าอำนาจตุลาการ จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนี้เพียงพระองค์เดียว และทรงใช้อำนาจบนพื้นฐานของหลักธรรม ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยมีลักษณะการปกครองโดยใช้คตินิยมในการปกครองแบบครอบครัวหรือพ่อปกครองลูก มาเป็นหลักในการบริหารประเทศ คติการปกครอง สมัยอาณาจักรสุโขทัยเรียกว่าการปกครองแบบพ่อปกครองลูก หรือการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรโดยในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ใกล้ชิดกับประชาชนมาก ประชาชนต่างก็เรียกพระมหากษัตริย์ที่ใกล้ชิดประชาชนว่า “พ่อขุน” รูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสมัยอาณาจักรสุโขทัยมีลักษณะเด่นที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
๑. พ่อขุนเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยมีรูปแบบปกครองประชาชนบนพื้นฐานของความรัก ความเมตตาประดุจบิดาพึงมีต่อบุตร บางตำราอธิบายว่าเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกหรือแบบปิตุราชาประชาธิปไตย
๒. พ่อขุนอยู่ในฐานะผู้ปกครองและประมุขของประเทศที่มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว
หรืออำนาจอธิปไตยอยู่ที่พ่อขุน
๓. ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตพอสมควร ดังจะเห็นได้จากศิลา
จารึกอธิบายว่า “......ใครใคร่ค้า ค้า เอาม้ามาค้าเอาข้าวมาขาย....” จากหลักศิลาจารึกจะทำให้เห็นว่าอาณาจักรสุโขทัยให้โอกาสประชาชนในการดำเนินชีวิตพอควร อาจกล่าวได้ว่าผู้ปกครองและผู้อยู่ภายใต้การปกครองมีฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน นอกจากให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจแล้วยังไม่เก็บภาษีด้วย “เจ้าเมืองบ่เอาจังกอบ ในไพร่ลู่ทาง...”
๔. รูปแบบการปกครองเป็นไปแบบเรียบง่ายไม่มีพิธีอะไรมากมายนัก อยู่แบบเรียบง่าย
ไม่มีสถาบันการเมืองการปกครองที่สลับซับซ้อนมาก และรูปแบบการเมืองการปกครองเป็นไปแบบให้บริการมากกว่าการสั่งการ การควบคุมหรือการใช้อำนาจเป็นไปอย่างเหมาะสม
๕. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง คือ พ่อขุนและผู้อยู่ใต้การปกครองคือประชาชน
เป็นไปอย่างแน่นเฟ้น ไม่มีพิธีรีตองมากนักเหมือนบุคคลในครอบครัวเดียวกัน
๖. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนผู้อยู่ภายใต้การปกครองอยู่ในฐานะที่
เท่าเทียมกัน ต่างก็อยู่ในฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ที่ต่างกันเท่านั้น
๗. มีการพิจารณาคดีโดยใช้หลักประกันความยุติธรรม เช่นเมื่อพลเมืองผิดใจเป็นความกันจะมีการสอบสวนจนแน่ชัดจึงตัดสินโดยยุติธรรม ในศิลาจารึกเขียนไว้ว่า “ลูกเจ้าลูกขุนแลผิดแผกแสกกว้างกัน สวนดูแท้แลจึ่งแล่งความแก่ข้าด้วย ซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน....”
๘. ทรงปกครองบ้านเมืองแบบเปิดเผยบนพระแท่นในวันธรรมดา ส่วนวันพระหรือวันโกนก็ทรงจัดให้พระมาเทศน์ เช่น “...ผิใช่วันสูดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือขนาดหินให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองคัล”
นอกจากพ่อขุน จะทรงวางรากฐานทางการปกครองแล้วในสมัยสุโขทัยยังทรงประดิษฐ์อักษรไทยเปิดโอกาสให้คนได้เรียนรู้ภาษา รู้ธรรมและในบางสมัยกษัตริย์ของอาณาจักรสุโขทัย ก็ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์แบบธรรมราชา การปกครองจึงมีรูปแบบธรรมราชาด้วย เช่น หลังจากที่ พ่อขุนรามคำแหงได้นครศรีธรรมราชไว้ในอำนาจก็ได้มีการนำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาเผยแผ่มากขึ้นและเป็นผลให้แนวความคิดในการปกครองเปลี่ยนจากปิตุราชาธิปไตย มาเป็นแบบธรรมราชาธิปไตย[1] โดยพระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๙๐ ก็เริ่มใช้พระนามว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ถึงที่ ๔ อันเป็นสมัยที่ขึ้นแก่อยุธยาและจบราชวงศ์พระร่วงเมื่อพ.ศ.๑๙๘๑
หลักการของระบอบธรรมราชาธิปไตย คือ ความเชื่อที่ว่าพระราชอำนาจของกษัตริย์จะ ต้องถูกกำกับด้วยหลักธรรมะ ประชาชนจึงจะอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อสิ้นพระชนม์ก็จะได้ไปสู่สวรรค์ จึงเรียกว่า สวรรคต ธรรมสำคัญที่กำกับพระราชจริยวัตรคือ ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ และจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ และมีหลักการปกครองปรากฏในไตรภูมิพระร่วงที่พระมหาจักรพรรดิราชจะใช้สั่งสอนท้าวพระยาทั้งหลายให้ปฏิบัติตามอีกมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าการปกครองแบบธรรมราชาธิปไตยน่าจะทำให้ประเทศชาติมั่นคงกว่า ราชาธิปไตย แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่การไม่พยายามออกไปสู้รบและแผ่ขยายอาณาเขตหรือไม่บำรุงกำลังรบให้เข้มแข็งเพื่อป้องกันประเทศอาจทำให้อ่อนแอลง ดังปรากฏในปลายราชวงศ์พระร่วงหรืออย่างสมัยพระเจ้าจักรพรรดิ์และพระเจ้าอุทุมพรแห่งอยุธยา หรือประเทศธิเบต ที่ถือนิกายวัชรญาณเคร่งครัด แต่ถ้าวิเคราะห์อย่างละเอียดอาจพบว่าเป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ใช้หลักธรรมอย่างครบถ้วนและเหล่าลูกหลานขุนนางแย่งชิงราชสมบัติฆ่าฟันกันเองจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศอ่อนแอ
การจัดระเบียบการปกครองในสมัยสุโขทัย
ในสมัยสมเด็จพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงจัดระเบียบการปกครองอาณาจักรกรุงสุโขทัยโดยแบ่งลักษณะอาณาจักรหรือเมืองออกเป็นชั้นๆ โดยถืออาณาจักรกรุงสุโขทัยเป็นศูนย์กลางและได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๔ ชั้นดังนี้คือ
ชั้นที่ ๑ ได้แก่ เมืองหลวงหรือราชธานี หมายถึงอาณาจักรสุโขทัย เป็นศูนย์กลางในการปกครองประเทศมีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมออกไปถึงเมืองอุปราชและเมืองลูกหลวงหรือเมือง หน้าด่าน อำนาจการสั่งการทั้งหมดอยู่ที่อาณาจักรสุโขทัย
ชั้นที่ ๒ ได้แก่เมืองอุปราชหรือเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านหมายถึง เมืองที่ตั้งอยู่รายรอบสี่ทิศรอบๆ อาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเมืองหน้าด่านแต่ละเมืองมีระยะห่างจากเมืองหลวง โดยใช้ประมาณจากการเดินทางโดยทางเท้าใช้เวลาไม่เกินสองวัน เมืองหน้าด่านหรือเมืองอุปราชเป็นเมืองที่สร้างขึ้นเพื่อฝึกหัดให้เชื้อพระวงศ์ที่มีความสามารถ มีความชำนาญในการปกครองบ้านเมือง และเมืองอุปราชก็ใช้ในแง่ของเมืองยุทธศาสตร์โดยใช้เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองหลวงหรือราชธานีอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เมืองสองแคว ( ปัจจุบันคือจังหวัดพิษณุโลก ) อยู่ทิศตะวันออก เมืองศรีสัชนาลัย อยู่ทางเหนือของเมืองสุโขทัย เมืองพระหลวง ( ปัจจุบันคือจังหวัดพิจิตร) อยู่ทางใต้และเมือง ชากังราว ( ปัจจุบันคือเมืองกำแพงเพชร )อยู่ทางทิศตะวันตก เป็นต้น
ชั้นที่ ๓ ได้แก่ เมืองพระยามหานคร หมายถึงเมืองใหญ่ ๆ ที่ตั้งอยู่ห่างราชธานีออกไปและมีประชาชนในเมืองเป็นคนไทยพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง ให้เจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปปกครอง เมืองพระยามหานคร จัดว่าเป็นหัวเมืองชั้นนอก เช่น อู่ทอง ราชบุรี เพชรบุรี ตะนาวศรี เพชรบูรณ์ เป็นต้น
เมืองพระยามหานคร[2]เป็นเมืองชั้นนอกเป็นเมืองที่อยู่ไกลราชธานี เมืองพระยามหานครปกครองโดยเจ้าเมืองซึ่งมักสืบเชื้อสายกัน ความสำคัญของเมืองพระยามหานครอยู่ที่เป็นเมืองกันชน โดยเฉพาะเมืองเอก เช่น พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เป็นด่านกั้นข้าศึก
ชั้นที่ ๔ ได้แก่ เมืองประเทศราชหรือเมืองออกหรือเมืองขึ้นหมายถึง ประเทศที่ยอม อ่อนน้อมต่ออาณาจักรกรุงสุโขทัยเป็นเมืองที่เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารโดยการส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองมาให้ รวมไปถึงถวายเครื่องราชบรรณาการเป็นประจำทุกปีหรืออาจทุกสามปี โดยเมืองเหล่านี้ยังปกครองกันเอง ให้เจ้าเมืองหรือราชวงศ์ของเมืองนั้นๆทำการปกครองกันเอง แต่ในยามที่มีศึกสงครามเมืองประเทศราชหรือเมืองขึ้นก็ต้องส่งกองทัพมาช่วย หรืออาจส่งเสบียง อาหาร เครื่องยุทธ์และปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นแก่อาณาจักรกรุงสุโขทัย สำหรับเมืองประเทศราชของอาณาจักรกรุงสุโขทัยได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเวียงจันทน์ น่าน หลวงพระบาง มะละกา ยะโฮ ทะวาย เมาะตะมะ และหงสาวดี เป็นต้น
อำนาจการเมืองการปกครองของอาณาจักกรุงศรีอยุธยาอยู่ที่การสามารถปกครองหน่วย การปกครองทั้งสามส่วน ซึ่งจุดทุกจุดจะพุ่งกลับไปสู่ระบบการเมืองแบบรวมศูนย์ที่เมืองหลวงและสถาบันพระมหากษัตริย์หรือรัฐบาลกลางและเพื่อเป็นฐานสำคัญของอำนาจทางการเมือง นอกจากนี้อยุธยายังมีการจัดระบบเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับการปกครองและระบบการเมือง[3]
การปกครองสมัยสุโขทัยก่อให้เกิดการพัฒนาระบบแนวคิดทางการเมือง ดังนี้ คือ
๑. การปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ทำให้ผู้ปกครองกับผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ปัญหาต่างๆ จึงไม่ค่อยมีในแง่ของการบริหารการปกครอง เมื่อประชาชนเดือดร้องก็สามารถแก้ปัญหาและให้ความยุติธรรมได้
๒. เป็นการวางรากฐานเรื่องสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชน ในสมัยนั้นและต่อๆมา
๓. พ่อขุนสามารถใช้อำนาจอธิปไตยอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรม ช่วยประชาชนทุกคนโดยเสมอกันแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชนได้ ก่อให้เกิดความสามัคคีภายในประเทศ วิถีชีวิตของประชาชนอยู่อย่างเป็นสุขดังคำกล่าวที่ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใครจะประกอบอาชีพใดก็สุด แก่ความสามารถของตนเองต้องการ เท่ากับมีการประกันความเสมอภาคโดยทั่ว บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข พ่อขุนตั้งมั่นอยู่ในธรรมะ การปกครองยึดหลักศาสนาในการปกครอง
การปกครองในสมัยอาณาจักรสุโขทัยมีจุดเด่นที่ควรเป็นข้อคิดคือ[4]
๑. รูปแบบการปกครองแบบพ่อลูกหรือพ่อขุน ซึ่งกล่าวไว้ว่าเป็นของไทยแท้ดั้งเดิม แต่ก็ไม่พบหมายความว่าไม่มีในสังคมอื่นความคิดเห็นทำนองเดียวกันนี้เป็นรูปแบบที่ยังมีการกล่าวถึงในปัจจุบัน
๒. ลัทธิธรรมราชาหรือกษัตริย์เป็นเสมือนพระพุทธเจ้าซึ่งบ่งชี้ถึงการใช้ธรรมและเมตตาธรรมเป็นฐาน
๓. มโนทัศน์เรื่องสวรรค์นรกซึ่งทำน้าที่เป็นอุดมการณ์เพื่อการจัดระเบียบสังคมและการปกครองบริหาร
๔. เสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะในสามรัชกาลต้น เช่น ความอิสระในการค้าและกิจการอื่น
๕. ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างผู้ปกครอง และผู้อยู่ใต้ปกครอง โดยเฉพาะใน ๓ รัชกาลต้น
๖. ความเจริญในด้านอุสาหกรรมชามสังคโลก
๗. การประดิษฐ์อักษรไทยโดยพ่อขุนรามคำแหงทำให้มีสื่อกลางของการสื่อความหมายและบันทึกเหตุการณ์และวรรณคดี
๘. การขยายอาณาเขตโดยการใช้ความสัมพันธ์ทางการแต่งงาน
๙. การติดต่อกับจีนและการได้ช่างทำชามสังคโลกมาช่วยปรับปรุงการทำชามสังคโลกซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ
๑๐. การนิมนต์พระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชและจากลังกา เพื่อสืบทอดศาสนาพุทธ
อาจกล่าวได้ว่าการปกครองในช่วงของอาณาจักรสุโขทัยเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกโดยแท้จริง
๑.๒.๒ สมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐)
ประวัติอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาพอสังเขป กรุงศรีอยุธยายังไม่มีข้อยุติว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นเจ้านายสายใด บางตำราเชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อสายพระเจ้าชัยสิริแห่งเมืองชัยปราการ(จังหวัดเชียงราย) ซึ่งอพยพหนีทัพมอญลงมาทางภาคกลางมีลูกหลานไปครองเมืองต่างๆ ในบริเวณอโยธยา ลพบุรี อู่ทอง สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าสิริชัย แห่งนครศรีธรรมราช และพระมารดาซึ่งเป็นโอรสของพระยาตรัยตรึงศ์ ผู้ครองแคว้น อโยธยา ประสูติเมื่อวันจันทร์ขึ้น แปดค่ำ เดือนห้า พ.ศ. ๑๘๕๗ ( ปลายรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)เมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ได้อภิเษกสมรสกับธิดาพระเจ้าอู่ทองผู้ครองแคว้นสุวรรณภูมิดังนั้นเมื่อพระบิดา พระอัยกา และพระบิดาของพระชายาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอู่ทองจึงได้มรดกไว้ทั้งสามแคว้น เมื่อย้ายเมือง มาสร้าง ณ กรุงศรีอยุธยาจึงมีอาณาจักรใหญ่โตรองรับ
ในแง่ของวิวัฒนาการการเมืองการปกครองอาจแบ่งได้เป็นสามยุคคือ ยุคต้น ตั้งแต่สมัย พระเจ้าอู่ทองถึงพระเจ้าสามพระยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๑๙๙๑) ยุคกลางตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงพระศรีสุธรรมราชา ( พ.ศ.๑๙๙๑-๒๑๙๙) และยุคปลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึงพระเจ้าเอกทัศน์(พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๓๑๐) ลักษณะการปกครองของสมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยานั้นพระเจ้าอู่ทองทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เป็นช่วงของการก่อร่างสร้างเมืองทำให้ต้องมีผู้นำในการปกครองเพื่อรวมรวมอาณาจักรให้แผ่ขยาย มีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องการค้าและศาสนา และในช่วงเวลานั้นมีการเผยแพร่ของลัทธิฮินดูและขอม เข้ามาตอนกลางของประเทศไทย ดังนั้นในสมัยนี้พระเจ้าอู่ทองทรงรับวัฒนธรรมการปกครองแบบขอม และอินดูเข้ามาใช้ เรียกการปกครองแบบนี้ว่า การปกครองแบบผู้ปกครองมีอำนาจสูงสุดในการปกครองตามลัทธิเทวสิทธิ์ โดยมีแนวคิด คือ
๑. พระเจ้าทรงเป็นผู้ตั้งรัฐ
๒. รัฐหรือดินแดนเกิดโดยพระเจ้าเพราะฉะนั้นพระเจ้าทรงเป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดรัฐ
๓. ผู้ปกครองรัฐมีความรับผิดชอบต่อพระเจ้าพระองค์เดียว
ในสมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ฐานะของพระมหากษัตริย์ในยุคแรกๆ นั้น จะมีความ
แตกต่างกับยุคหลังๆ กล่าวคือ ฐานะของพระมหากษัตริย์ทรงเป็นธรรมราชา คือ พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ทรงเป็นเจ้าชีวิตคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเหนือชีวิตของบุคคลที่อยู่ในสังคมทุกคน และ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน คือ ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักรและพระมหากษัตริย์จะทรงพระราชทานให้ใครก็ได้ตามอัธยาศัย ต่อมาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้รับแนวคิดทางการเมืองการปกครองจากเขมรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แนวความคิดในเรื่องฐานะของพระมหากษัตริย์ก็เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นผู้นำรัฐเป็นพ่อปกครองลูก แนวความคิดของขอมเชื่อว่าผู้นำหรือพระมหากษัตริย์เป็นเทวราชหรือเทวดาโดยสมมุติ ดังนั้นคำสั่งของผู้ปกครองรัฐจึงเป็นพระราชโองการหรือเทวโองการ ฐานะของประชาชนจึงเป็นผู้อยู่ภายใต้การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงปกครองอย่างแท้จริง และรูปแบบการปกครองเช่นนี้ทำให้เกิดระบบศักดินาขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย นับได้ว่าเกิดการปกครองแบบนายกับบ่าว มีการแบ่งชั้นทางสังคมชัดเจน และเกิดระบบทาสขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยในสมัยอยุธยายังต้องทำศึกสงครามเกือบตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้พลเมืองในการเข้าสังกัดมูลนายมีการเกณฑ์ไพร่พลเพื่อป้องกันประเทศ รูปแบบการปกครองจึงมีการเปลี่ยนแปลงจากสุโขทัยมาก
ลักษณะการปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยามีดังนี้ คือ
๑. พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นผู้ปกครองและทรงเป็นประมุขปกครองประเทศทรงมีอำนาจสูงสุด และทรงใช้อำนาจอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียวพระมหากษัตริย์จึงทรงเป็นองค์อธิปัตย์ทางการเมืองและเป็นองค์อธิปัตย์ในการปกครองประเทศและรัฐ เรียกว่าเป็นระบอบราชาธิปไตย
๒. พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจสูงสุด เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระราชอำนาจและความมั่นคงในฐานะผู้ปกครองไว้ แต่พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาก็ถูกจำกัดไว้หลายประการ เช่น
ทางด้านการเมือง ในสมัยอยุธยาถือว่าบุคคลที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้ต้องเข้าพิธีปราบดาภิเษกก่อนและการเข้าพิธีปราบดาภิเษกถือว่าเป็นการขึ้นสู่ราชบัลลังก์โดยชอบธรรมดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องมีกลุ่ม หรือคณะบุคคลสนับสนุน และให้ประโยชน์ตอบแทนกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้โดยให้ประโยชน์ตอบแทนเป็นยศถาบรรดาศักดิ์หรือให้ศักดินาเป็นต้นทั้งนี้ก็เพื่อการรักษาพระราชอำนาจ
ทางด้านหลักปฏิบัติประเพณีโบราณ พระมหากษัตริย์ไม่ได้มีพระราชอำนาจมากแต่ทรงอยู่ภายใต้หลักของการปกครองที่เป็นหลักปฏิบัติตามประเพณีโบราณ เช่น พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิบัติตามจักรวรรดิวัตร๑๒ ประการราชสังคหะวัตถุ๔ประการ อีกด้วย
ทางด้านศีลธรรม พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พุทธศาสนา และทรงตั้งอยู่ใน
ธรรมเรียกว่าทศพิธราชธรรม ๑๐ประการ ฉะนั้นพระมหากษัตริย์จะต้องทรงประพฤติให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม
๓. พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นสมมุติเทพ ตามคตินิยมของพราหมณ์ จึงต้องมี
ระเบียบพิธีการต่างๆ มากมายแม้แต่ภาษาที่ใช้กับพระมหากษัตริย์ก็ได้บัญญัติขึ้นใช้เฉพาะกับพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่เราเรียกว่าราชาศัพท์นั่นเอง
๔. เกิดระบบทาสขึ้น ทาสหมายถึง บุคคลที่ใช้แรงงาน โดยทาสในสมัยกรุงศรีอยุธยา
อนุญาตให้เสนาบดี ข้าราชบริพารและประชาชนที่ร่ำรวยมีทาสได้และผู้ที่ใช้แรงงานเมื่อตกเป็น ทาสก็ถือว่านายเงินเป็นเจ้าของ เจ้าของอาจซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน หรือยกทาสให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นการเกิดชนชั้นทางสังคม จึงเกิดขึ้นในสมัยนี้ทำให้ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองมีฐานะไม่เท่ากัน
การจัดระเบียบการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยพระเจ้าอู่ทองได้มีการปรับปรุงระเบียบการปกครองส่วนกลางใหม่ เรียกว่า การปกครองแบบจตุสดมภ์ เป็นแนวคิดทางการปกครองที่กรุงศรีอยุธยารับอิทธิพลมาจากขอม โดยพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจโดยเด็ดขาดในการปกครองมีเสนาบดี ๔ คนเรียกว่า “จตุสดมภ์” ทำหน้าที่ช่วยบริหารงานส่วนกลางประกอบด้วย
๑. ขุนเวียงหรือขุนเมือง เป็นพนักงานปกครองท้องที่และบังคับบัญชาศาล พิจารณาคดีความที่สำคัญๆ เรียกว่าแผนกว่าความนครบาล ตลอดจนมีหน้าที่ปกครองเรือนจำ
๒. ขุนวัง ทำหน้าที่รักษาพระราชมนเทียรและพระราชวังชั้นนอกชั้นใน มีอำนาจตั้งศาลชำระความ และมีหน้าที่พิจารณาตัดสินอรรถคดีทั้งหลาย
๓. ขุนคลัง ทำหน้าที่ในการบังคับบัญชาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการเงิน และบังคับบัญชาศาล ชำระคดีความเกี่ยวกับพระราชทรัพย์หลวงทั้งปวง
๔. ขุนนา มีหน้าที่ดูแลรักษานาหลวงเก็บค่าเช่าที่นาจากราษฎรเป็นผู้ทำนุบำรุงชาวนา ทั้งปวง ไม่ให้เสียเวลาทำนา จัดหาและรักษาเสบียงอาหารสำหรับพระนครและพระราชวังและมีอำนาจบังคับบัญชาศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องในเรื่องนา โค กระบือ และระงับข้อพิพาทของชาวนา
การปกครองอาณาเขตพระเจ้าอู่ทองทรงถือเอาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง มีเมืองหน้าด่านชั้นในสำหรับป้องกันราชธานีทั้ง ๔ ทิศ และมีเมืองใหญ่ๆนอกวงราชธานีไกลออกไป คือ เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราชตามลำดับ
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยา
การปกครองของไทยในสมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยทรงโปรดให้มีการจัดระเบียบการปกครองใหม่ โดยยึดหลักการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และทรงแยกอำนาจของทหารออกจากอำนาจของพลเรือนออกจากกันอย่างเด็ดขาด คือ
๑. ฝ่ายทหาร ให้ทหารมีพระสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้ามีหน้าที่บังคับบัญชาและควบคุมราชการฝ่ายทหารทั่วราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยตำแหน่งพระสมุหกลาโหมมีราชทินนามเป็น “เจ้าพระยามหาเสนาบดี”
๒. ฝ่ายพลเรือน ให้มีพระสมุหนายกเป็นหัวหน้า มีหน้าที่บังคับบัญชาฝ่ายพลเรือน ทั่วราชอาณาจักร ตำแหน่งพระสมุหนายกมีราชทินนามเป็น “เจ้าพระยาจักรี” และให้มีเสนาบดีจตุสดมภ์ ๔ ตำแหน่งทำหน้าที่ช่วยดูแลการบริหารกิจการส่วนกลางและได้เปลี่ยนชื่อจตุสดมภ์ใหม่คือขุนเวียงหรือขุนเมืองเรียกว่า “นครบาล” ขุนวัง เรียกว่า “ธรรมาธิกรณ์” ขุนคลังเรียกว่า “โกษาธิบดี” และขุนนา เรียกว่า “เกษตราธิการ” ส่วนอำนาจหน้าที่ของจตุสดมภ์ก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการปกครองแบบจตุสดมภ์ในยุคก่อนๆ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงจัดระเบียบการปกครองส่วนย่อยของเมืองออกไปอีก มีการแบ่งเขตการปกครองท้องที่ภายในเมืองหนึ่งๆ เหมือนกันหมดทั้งเมืองภายในวงราชธานีและเมืองพระยามหานคร โดยจัดแบ่งการปกครองท้องที่ดังนี้
๑. เมือง หรือจังหวัดในปัจจุบัน แต่ละเมืองจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นแขวง
๒. แขวง หรือเขต หรืออำเภอในปัจจุบัน แต่ละแขวงจะแบ่งออกเป็นเขตการปกครอง
เป็นตำบล
๓. ตำบล โดยตำบลหนึ่งๆจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นบ้าน
๔. บ้าน ได้แก่หมู่บ้านในปัจจุบัน
การปกครองเมืองประเทศราชให้ผู้ปกครองของเมืองนั้นๆดำเนินการปกครองประเทศกันเอง แต่จะต้องส่งกองทัพและเสบียงอาหารไปช่วยราชการสงครามเมื่อราชธานีแจ้งไปและต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการตามที่กำหนดเวลาด้วย
ความแตกต่างระหว่างการปกครองสมัยอาณาจักกรุงสุโขทัยและอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา การปกครองของไทยในสมัยอาณาจักรกรุงสุโขทัยและอาณาจักรกรุงศรีอยุธยามีลักษณะดังนี้
๑. การปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เป็นไปในลักษณะของคนกลุ่มน้อย คณะมี
อำนาจสูงสุดในการปกครองมีชนชั้นผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง ประชาชนมีหน้าที่เชื่อฟังคำสั่งและปฏิบัติตามคำสั่งและกฎเกณฑ์ของผู้ปกครองซึ่งมีอำนาจในเวลานั้น สำหรับอาณาจักร กรุงสุโขทัย แม้ว่าการปกครองจะอยู่ที่พ่อขุนแต่พ่อขุนก็ให้โอกาสประชาชนมีสิทธิเสรีภาพตามควร ใครมีทุกข์ก็สั่น กระดิ่ง ร้องฎีกาได้
๒. การปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ให้ทหารเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง มากขึ้น เนื่องจากมีการแย่งชิงราชสมบัติกันหลายครั้งต่อหลายครั้งจึงทำให้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ต้องให้ความสำคัญกับทหาร และเหล่าเสนาบดีที่จะช่วยรักษาพระราชอำนาจ
๓. เกิดระบบการรวมอำนาจที่ศูนย์กลางหรือที่ราชธานีขึ้น และเกิดความชัดเจนในการปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในรูปแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น
๔. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนแตกต่างกันมาก จากลักษณะที่ใกล้ชิดกันในสมัยกรุงสุโขทัย แต่พอมาถึงสมัยการปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ความสัมพันธ์เริ่มห่างเหินเนื่องฐานะของผู้ปกครองเปลี่ยนไปจากเดิม และยังเป็นผลให้เชื้อพระวงศ์และข้าราชบริพาร ตั้งตนไปเป็นอีกชนชั้นหนึ่งที่อยู่เหนือประชาชนทั่วๆ ไป การปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยคำสั่งเป็นกฎหมาย ประชาชนไม่มีสิทธิทางการเมืองการปกครองแต่อย่างไร
๕. การปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ยังผลให้เกิดระบบศักดินาขึ้นและมีการให้ยศถาบรรดาศักดิ์ แก่ผู้ทำประโยชน์ให้แก่ทางราชการ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเกิดความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม
๖. เกิดระบบทาสขึ้นในสมัยการปกครองของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ซึ่งไม่ปรากฏในสมัยกรุงสุโขทัย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
๑.๒.๓ สมัยอาณาจักรกรุงธนบุรีและสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น
( พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) ดังจะอธิบายแยกเป็นสมัย ดังนี้คือ
ลักษณะการปกครองสมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี
เนื่องจากสมัยอาณาจักรกรุงธนบุรี เป็นช่วงที่ประเทศไทยได้เสียกรุงให้กับพม่าครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ประเทศชาติแตกแยกกันเป็นก๊ก เป็นเหล่ายังรวมกันไม่ติด และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถทำนุบำรุงให้คงสภาพเดิมได้อีกทั้งข้าศึกศัตรูก็รู้ลู่ทางดีและเมื่อถึงคราวน้ำหลาก ปัญหาต่างๆ ก็ตามมามาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงย้ายมาตั้งเมืองหลวงที่กรุงธนบุรีและตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ท่านทรงต้องทำศึกสงครามเพื่อรวบรวมประเทศไทยให้เป็นฝึก แผ่นและทำการกอบกู้เอกราชมาโดยตลอด ดังนั้นตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี พระองค์จึงไม่ได้ทรงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแต่อย่างไร ดังนั้นในสมัยอาณาจักรกรุงธนบุรีนั้น เราอาจกล่าวได้ว่ายังคงใช้รูปแบบการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ นั่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทั้งหมดเพียงพระองค์เดียว ได้แก่ การใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ หรืออาจกล่าวง่ายๆ คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้อำนาจอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียวเพื่อทรงรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นให้คงความเป็นไทยอยู่จนทุกวันนี้
ลักษณะการปกครองสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในสมัยอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ประเทศไทยใช้รูปแบบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแนวของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเร่งในการก่อร่างสร้างเมือง ปราบปรามข้าศึกศัตรูโดยเฉพาะพม่า ทำให้ในเรื่องการปกครองไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง แต่พอเข้าในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ เรื่อยมา ก็เกิดลัทธิล่าอาณานิคมขึ้น มีต่างชาติเข้ามาทำการค้าขายกับประเทศไทยมากขึ้นและประกอบกับประเทศไทยมีลักษณะเป็น รัฐกันชน (Buffer State) ทำให้เป็นที่สนใจของมหาอำนาจ ดังนั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ เพื่อให้การปกครองทันกับชาวต่างชาติและอารยะประเทศ
๑.๒.๔ ลักษณะการปกครองสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕)
สภาพการเมืองเมื่อต้นรัชกาล พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖ พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จครองราชย์ใหม่ๆ ยังคงถูกจำกัดด้วยอำนาจของขุนนางเก่า เช่น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ การเมืองสมัยนั้นมีลักษณะแฝงของการต่อสู้เพื่อรวมอำนาจคืนมาไว้ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนรุ่นใหม่และกลุ่มขุนนางเก่าเด่นชัดมากขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๕ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรม ในยุคนั้นผู้นำของสยามแบ่งเป็น ๓ กลุ่มคือ กลุ่มสยามหนุ่ม (Young Siam) รัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นผู้นำและประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอและขุนนางหนุ่มๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกต้องการปฏิรูปสังคมให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ พวกอนุรักษ์นิยม (Conservative Siam ) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นหัวหน้า ประกอบด้วยขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงหรือรวดเร็วต้องการรักษาสภาพเดิมของประเพณีไว้ จะเปลี่ยนเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ กลุ่มสยามเก่า(Old Siam)กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเป็นผู้นำเป็นพวกหัวโบราณประกอบ ด้วยขุนนางระดับต่างๆ ที่เกรงกลัวการเปลี่ยนแปลงจะมีผลกระทบฐานะและตำแหน่ง จึงไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับฝ่ายใดต้องการอยู่ตามลำพัง ต่อต้านอารยธรรมตะวันตกมากกว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมเมื่อรัชกาลที่ ๕ พระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาทรงบรรลุนิติภาวะทรงเริ่มใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินได้เต็มที่ ปีพ.ศ. ๒๔๑๗ กลุ่มสยามหนุ่มเริ่มดำเนินการปฏิรูปการปกครองและพยายามขจัดอิทธิพลขุนนางรุ่นเก่าอาทิ การก่อตั้งหอรัฎากรพิพัฒน์ เป็นก้าวแรกของการปฏิรูปการคลังของรัฐบาล การตรากฎหมาย ๒ ฉบับคือ พระราชบัญญัติเคาน์ซิล ออฟสเตท (ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน) พระราชบัญญัติปรีวีเคาน์ซิล (ที่ปรึกษาในพระองค์)เป็นความพยายามสร้างสถาบันทางการเมืองขึ้น เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ เพื่อพระราชอำนาจของรัชกาลที่ ๕ ในปีพ.ศ. ๒๔๒๗ (ร.ศ.๑๐๓)มีการเคลื่อนไหวให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มราชวงศ์และขุนนางที่เป็นคณะทูตไทยไปยุโรปหรือที่เรียกว่า กลุ่ม ร.ศ.๑๐๓ที่ได้เข้าชื่อถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดินต่อรัชกาลที่ ๕ กลุ่มร.ศ.๑๐๓ มีจุดมุ่งหมายที่จะชี้ให้เห็นถึงภัยอันตรายที่จะมาถึงสยาม เป็นภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยมยุโรปที่แพร่หลายในเอเชีย ฉะนั้นการจะรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัยได้ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองให้คล้ายคลึงกับระบบการปกครองประเทศที่เจริญแล้ว เหตุที่เป็นข้ออ้างของลัทธิจักรวรรดินิยมมี ๔ ประการดังนี้คือ ข้อหนึ่งคืออ้างว่าชาติศิวิไลซ์หรือยุโรปต้องเข้ามาจัดการบ้านเมืองประเทศที่ด้อยความเจริญโดยอ้างว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้มีความกรุณา (ยุโรป) จะมีต่อมนุษยชาติ (ในเอเชีย)ให้มีความสุขความเจริญและได้รับความยุติธรรมเสมอกัน ข้อสองอ้างว่าประเทศด้อยพัฒนายังมีประสบการณ์แบบเก่าๆ นอกจากจะกีดขวางทางเจริญของประเทศตนเองแล้วยังไปขัดขวางความเจริญของประเทศชาติที่เจริญแล้ว ข้อสามการที่รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จัดการบ้านเมืองไม่เรียบร้อยย่อมมีผลกระทบ กระเทือนถึงผลประโยชน์ชาวยุโรปที่ทำการค้าขาย ในประเทศเหล่านั้นจึงเป็นเหตุผลให้ชาติยุโรปจะเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ข้อสี่การที่ประเทศในเอเชีย ไม่ยอมเปิดการค้าขายกับชาติต่างๆ ในยุโรปเป็นการหน่วงเหนี่ยวความเจริญของชาวยุโรปที่ไม่อาจเข้ามาทำการค้าขายในประเทศ และไม่สามารถจะนำเอาวัตถุดิบในประเทศด้อยพัฒนาไปป้อนอุตสาหกรรมในประเทศยุโรปได้ กลุ่มร.ศ. ๑๐๓ เห็นว่าแนวทางป้องกันการขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมจำเป็นต้องให้ประเทศปกครองแบบ Constitution monarchy คือให้รัชกาลที่ ๕ เป็นประธานของรัฐบาลแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่กลุ่มร.ศ. ๑๐๓ ไม่ได้ประสงค์ให้มีรัฐสภา(Parliament )หรือไม่ประสงค์ให้ประชาชนมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป แต่ต้องการให้รัชกาลที่ ๕ ขยายขอบเขตของศูนย์อำนาจจากที่มีอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์ให้กว้างขวางกว่าเดิมคือ ให้มอบและกระจายอำนาจการตัดสินใจทางการปกครองและบริหารประเทศให้มากกว่าเดิม รัชกาลที่ ๕ มีความเห็นโต้แย้งกลุ่มร.ศ.๑๐๓ว่าพระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ที่หวงอำนาจเหมือนกษัตริย์ในยุโรปช่วงแรกของการครองราชย์ (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๑๖) อำนาจทางการเมืองอยู่ที่ขุนนางและเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่เมื่อทรงพระชนมายุ ๒๐ พรรษา พระองค์ทรงมีอำนาจปกครองเต็มที่หลังจากนั้น ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๑๖-๒๔๒๕) ทรงพยายามสร้างฐานอำนาจทางการเมืองแต่ข้อเสนอของกลุ่มร.ศ.๑๐๓ ส่งถึงพระองค์ในปีพ.ศ.๒๔๒๗ พระองค์เพิ่งตั้งหลักทางการเมืองได้และอยู่ในระยะเริ่มดำเนินการขั้นต่อไปคือการเร่งรัดปรับปรุงงานบ้านเมือง ลดอำนาจกลุ่มเสนาบดีดั้งเดิมที่เป็นคนรุ่นเก่าที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าปัญหาสำคัญและเร่งด่วนของสยามคือการปฏิรูปการบริหารประเทศ ข้อเสนอของกลุ่มร.ศ. ๑๐๓ มีส่วนในการเร่งให้รัชกาลที่ ๕ ทรงปรับปรุงการบริหารให้รวดเร็วขึ้นดังเช่น การส่งกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการไปงานฉลองรัชกาลสมเด็จพระบรมราชินีวิกตอเรียครบ ๕๐ ปี ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๐ และให้ไปพิจารณาแบบการปกครองของชาติต่างๆในยุโรปด้วยและได้เริ่มการปฏิรูปการปกครองในปีพ.ศ. ๒๔๓๐ จนดำเนินการเต็มรูปในปีพ.ศ.๒๔๓๕[5]
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่สนใจจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามแนวตะวันตก จะเห็นได้จากทรงทรงพระราชโอรสและเชื้อพระวงศ์จำนวนหลายคนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาดูงานที่เกี่ยวข้องกับ การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย อีกทั้งในระบบการเมืองการปกครองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงปรับปรุงให้มีการจัดการปกครองโดยแบ่งเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และมีการทดลองรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรก สำหรับการพัฒนาข้าราชการให้มีความรู้เรื่องการปฏิรูปการเมืองการปกครองก็ดำเนินการมามิได้ขาดอีกทั้งยังเห็นความสำคัญของเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก เช่น ทรงส่งกรมหมื่น เทวะวงศ์วโรปการ ไปงานฉลองรัชกาลสมเด็จพระบรมราชินีวิกตอเรียครบ ๕๐ ปี ณ ประเทศอังกฤษเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๓๐ และให้ไปพิจารณาแบบการปกครองของชาติต่างๆในยุโรปด้วยและได้เริ่มการปฏิรูปการปกครองในปีพ.ศ.๒๔๓๐ ดังรูปที่ ๑
รูปที่ ๑ แสดงรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโร
ปการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ(ซ้ายมือ) และสมเด็จพระกรมพระยาดำรง
ราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย(ขวามือ)
ที่มา สำนักเลขาธิการ. ๖๐ ปีรัฐสภาไทย. กรุงเทพมหานคร: แอสโซซิเอทเด็ด ไฮ-คลาส กรุ๊ป
จำกัด, ๒๕๓๕.หน้า ๑๘.
ในช่วงการปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นประเทศไทยยังคงใช้ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแนวของพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ประเทศไทยเริ่มติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น และเริ่มมีปัญหากดดันทางการเมืองมากมาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเห็นความสำคัญของการปกครอง และมีความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้ทันกับประเทศที่เข้ามาล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชีย โดยทำการปฏิรูปการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน เริ่มเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ หรือ ร.ศ. ๑๑๑ ใหม่ดังนี้คือ
๑. การปกครองส่วนกลางได้ทรงแบ่งแยกหน้าที่การปกครองส่วนกลางออกเป็น ๑๒กระทรวงโดยให้กระทรวงมีอำนาจบริหารงานและให้อำนาจกับกระทรวง กรม กอง เป็นผู้ดูแลมีการนำระบบบริหารราชการแบบแบ่งแยกโครงสร้างอำนาจหน้าที่ (Structural-Functionalism) มาใช้ด้วยการทบทวนหน้าที่หลักของกรมจตุสดมภ์ การบริหารราชการส่วนกลางมี ๑๒ กระทรวง คือ
๑.๑ กระทรวงมหาดไทยการบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและเมืองลาวประเทศราชต่อมาได้มีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งหมดให้อยู่ในความดูแลของกระทรวง มหาดไทย
๑.๒ กระทรวงกลาโหม บังคับบัญชาหัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตก ตะวันออกและเมืองมาลายูประเทศราชเมื่อมีการโอนการบังคับบัญชาหัวเมืองไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงบังคับบัญชาฝ่ายทหารเพียงอย่างเดียวทั่วพระราชอาณาเขต
๑.๓ กระทรวงการต่างประเทศ(กรมท่า) มีหน้าที่ด้านการต่างประเทศ
๑.๔ กระทรวงวัง ว่าการในวัง
๑.๕ กระทรวงเมือง (นครบาล) ว่าการโปลิศและการบัญชีคนคือกรมพระสุรัสวดีและรักษาคนโทษ
๑.๖ กระทรวงเกษตราธิการ ว่าการเพาะปลูกและการค้า ป่าไม้ เหมืองแร่
๑.๗ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ดูแลเรื่องการเงิน รายได้รายจ่ายของแผ่นดิน
๑.๘ กระทรวงยุติธรรม จัดการเรื่องศาลซึ่งกระจายอยู่ตามกรมต่างๆนำมาไว้ที่แห่งเดียวกันทั้งแพ่ง อาญา นครบาล อุทธรณ์ทั้งแผ่นดิน
๑.๙ กระทรวงยุทธนาการ ตรวจตราจัดการในกรมทหารบก ทหารเรือ
๑.๑๐ กระทรวงธรรมการ จัดการศึกษา การรักษาพยาบาลและอุปถัมภ์คณะสงฆ์
๑.๑๑ กระทรวงโยธาธิการมีหน้าที่ก่อสร้างทำถนนขุดคลอง ไปรษณีย์ โทรเลข การรถไฟ
๑.๑๒ กระทรวงมุรธาธรมีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนดกฎหมาย(กระทรวงมุรธาธรยุบในปีพ.ศ.๒๔๓๙โอนราชการในหน้าที่ขึ้นอยู่ในกรมราชเลขานุการ)
การจัดการบริหารส่วนกลางเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และเป็นเพียง
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารมากกว่าการเปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่ และกิจกรรมที่ระบบบริหารทำอยู่ การปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงเป็นการปกครองที่เน้นให้รัฐมีบทบาทหลักในการรักษาความปลอดภัย มีการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางและการมุ่งหารายได้ด้วยการเก็บภาษีเข้าท้องพระคลังมากกว่าที่จะขยายขอบเขตงานของรัฐออกไปสู่กิจกรรมประเภทอื่นๆ ข้อสังเกต คือ ดูจากงบประมาณที่แต่ละกระทรวงได้รับ ในช่วงนั้นพบว่ากิจกรรมหลักของประเทศมีความสำคัญตามลำดับคือ ป้องกันประเทศ การรักษาความสงบภายใน กิจกรรมส่วนพระองค์ขณะที่งบประมาณกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเกษตรอยู่ในระดับต่ำสุดการลงทุนของประเทศในช่วงรัชกาลที่ ๕ เป็นการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม เช่น ทางรถไฟ เพื่อตอบสนองนโยบายหลักในการรวมอำนาจมาไว้ที่ศูนย์กลาง มีการควบคุมหัวเมืองภายนอกให้กระชับเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการเก็บภาษีเข้ารัฐ[6] การจัดการบริหารส่วนกลางมีการจัดตั้งเสนนาบดีประจำกระทรวงต่างๆทั้ง ๑๒ กระทรวง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำหน้าที่บริหารราชการส่วนกลางแต่พระราชอำนาจสูงสุดยังคงอยู่ที่พระมหากษัตริย์ เสนนาบดีประจำกระทรวงต่างๆ ทั้ง ๑๒ กระทรวงมีหน้าที่ถวายความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษาโดยมี คณะเสนาบดีที่ทำหน้าทีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒. การปกครองส่วนภูมิภาค ได้ทรงรวบรวมหัวเมืองให้เป็นหน่วยการปกครองใหม่เรียกว่า “มณฑล” การแบ่งส่วนความรับผิดชอบ โดยแบ่งเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน นอกจากนี้ยังทรงจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้น และเริ่มทดลองการกระจายอำนาจเป็น ครั้งแรก ให้กับหน่วยการปกครองสุขาภิบาล
ในปีพ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๕๘ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทยมีการสถาปนาการปกครองระบบเทศาภิบาลและการปกครองตำบล หมู่บ้าน เพื่อขยายบทบาทของส่วนกลางในการควบคุมกลไกการปกครองประเทศ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) เป็นการกำหนดบทบาทในการปกครองของนายอำเภอที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปปกครอง เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า “การปกครองท้องที่” เป็นหัวใจสำคัญต่อการปกครองในระบบเทศาภิบาล นายอำเภอ ถือว่าเป็นตัวแทนระหว่างข้าราชการของรัฐบาลกลางระดับจังหวัด และมณฑล กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ประชาชนเลือกขึ้นมาในระดับตำบล หมู่บ้าน นายอำเภอเป็นผู้ที่ต้องพยายามทำให้คำสั่งต่างๆ จากสมุหเทศาภิบาลและผู้ว่าราชการเมือง(จังหวัด)เป็นผลในการปกครองตำบล หมู่บ้าน นอกจากนี้กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ยังเพิ่มบทบาทหน้าที่ในการปกครองตำบล หมู่บ้านของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภายใต้การควบคุมดูแลของนายอำเภอและผู้ว่าราชการเมือง นายอำเภอจะได้รับคำสั่งออกไปดูแลตำบล หมู่บ้านทำรายงานส่งผู้ว่าราชการเมืองเดือนละครั้ง นายอำเภอจะรับผิดชอบรักษาความสงบให้การปรึกษาดูแลทั้งหมดแก่กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่เรื่องการจดทะเบียนปศุสัตว์ การเก็บรักษาหนังสือสัญญาต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนการจัดระเบียบการปกครองตำบล หมู่บ้านใหม่สามารถให้อำนาจของรัฐเข้าไปดูแลอย่างเข้มงวดมากขึ้น รัชกาลที่ ๕ ทรงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการปฏิรูปการปกครองหัวเมือง(การปกครองส่วนภูมิภาค)เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาณาจักรสยามโดยมีพระราชประสงค์จะให้ยุบเมืองประเทศราชแล้วรวมเข้าเป็นหัวเมืองใน พระราชอาณาจักรการดำเนินงานปฏิรูปนอกจากการจัดระบบการปกครองจากล่างสุดเป็น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง(จังหวัด)แล้วยังจัดระบบการปกครอง มณฑลเทศาภิบาลเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการติดต่อระหว่างรัฐบาลในกรุงเทพกับหัวเมืองนอกราชธานีและมณฑลจะมีข้าหลวงเทศาภิบาล (สมุหเทศาภิบาล) เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดนอกจากนั้นยังประกอบด้วยข้าราชการฝ่ายต่างๆ เช่น ข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงคลัง แพทย์ประจำมณฑล ดังแสดง ในแผนที่มณฑล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับการปกครอง ส่วนภูมิภาคโดยมีหน่วยการปกครองใหม่เรียกว่า “มณฑล”
อาจกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญอย่างจริงจังในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังจะเห็นได้จากการทรงปฏิรูปการเมืองการปกครองในหัวเมืองให้เป็นการปกครองส่วนภูมิภาค โดยมีการกำหนดพื้นที่การปกครองส่วนภูมิภาคโดยมีหน่วยการปกครองใหม่เรียกว่า “มณฑล” ดังแสดงในรูปที่ ๒
ระบบเทศาภิบาลเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค ที่มีการตั้งสาขาของกระทรวงใหญ่ ในกรุงเทพฯ รับหน้าที่ดูแลกิจการของตนในส่วนภูมิภาค การจัดระเบียบการปกครองหัวเมือง คือ ท้องที่หลายอำเภอรวมกันเป็นหนึ่งหัวเมืองแต่ละหัวเมืองมีพนักงานผู้ปกครองเมือง คือ
๑. ผู้ว่าราชการเมือง คือเจ้าเมืองเป็นตำแหน่งข้าราชการชั้นพระยา หรือพระที่แต่งตั้ง ตามพระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์ทรงพระดำริเห็นสมควร ผู้ว่าราชการเมืองมีหน้าที่บังคับบัญชารับผิดชอบทุกอย่างในเมืองยกเว้นการพิพากษาคดี เป็นผู้ตรวจตราให้ข้าราชการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามพระราชกำหนด กฎหมายและคำสั่งของเจ้ากระทรวงรายงานข้อราชการในการทำนุบำรุงหรือแก้ไขข้อขัดข้องในการปกครองเมืองต่อข้าหลวงเทศาภิบาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ดูแล ทุกข์สุขของประชาชนต่างพระเนตรพระกรรณ
๒. กรมเมือง มี ๒ ตำแหน่งคือ กรมการในทำเนียบอันเป็นตำแหน่งที่มีเงินเดือนได้แก่ ปลัดยกบัตร ผู้ช่วยราชการ ซึ่งจัดเป็นกรรมการผู้ใหญ่ ๓ ตำแหน่ง คือ จ่าเมือง (เลขานุการของเมือง) สัสดีแพ่ง (รักษากฎหมาย) ศุภมาตรา (เก็บภาษีอากร) และกรมการนอกทำเนียบ เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือเป็นคหบดีในเมือง ซึ่งเป็นกรรมการผู้ใหญ่
การปฏิรูปการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นการปรับหน่วยการปกครองที่มีสภาพและฐานะเป็นตัวแทน (Field) หรือหน่วยงานประจำท้องที่ (Field office) ของกระทรวงมหาดไทยหรือรัฐบาลในส่วนกลาง ทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองแบบเมืองหลวง เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก เมืองพระยามหานคร และเมืองประเทศราชเดิมเพื่อให้ลักษณะการปกครองเปลี่ยนเป็นแบบราชอาณาจักร (Kingdom)โดยการจัดระเบียบการปกครองให้มีลักษณะที่ลดหลั่นตามระดับการบังคับบัญชาจากหน่วยเหนือลงไปถึงหน่วยงานชั้นรองตามลำดับคือ การจัดรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล การจัดรูปการปกครองเมือง การจัดรูปการปกครองอำเภอ การจัดรูปการปกครองตำบล หมู่บ้าน
การจัดการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงรัชกาลที่ ๕ มีแนวคิดในการปูพื้นฐานการเมืองในเวลาต่อมาดังนี้คือ
๑. พระมหากษัตริย์ ในสมัยนี้ทรงใช้หลักการปกครองผสมผสานระหว่างการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรกับการปกครองแบบราชาธิปไตยหรือใช้หลักเทวราช ซึ่งทำให้ผู้ปกครองกับผู้อยู่ภายใต้การปกครองใกล้ชิดกัน และมีการสร้างความมั่นคงของชาติ
๒. ศูนย์กลางแห่งอำนาจอยู่ที่เมืองหลวงเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางการปกครองทำให้เข้าหลักเกณฑ์การเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ให้ผู้ปกครองหัวเมืองมีอำนาจมากเกิน มิฉะนั้นจะมีปัญหาในการปกครอง
๓. มีการปรับปรุงการบริหารส่วนกลางโดยใช้กระทรวงกรม นับเป็นการยอมรับแนวคิดในการบริหารของตะวันตกมาใช้เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดการพัฒนาการปกครองและทำให้การปกครองมั่นคงยิ่งขึ้น
๔. มีการปรับปรุงการบริหารส่วนภูมิภาคเพื่อให้เกิดเอกภาพ สมารถสร้างความเข้มแข็งให้ส่วนกลางเพราะภูมิภาคยังต้องดำเนินการปกครองตามส่วนกลาง แต่ให้คนไปปกครองในรูป อำเภอ ตำบล มณฑล ทำให้ข้าราชการเข้าใจและรู้ปัญหาที่แท้จริงของประชาชน และสามารถหาทางช่วยเหลือปัญหาในบางเรื่องได้ทันท้วงที
๕. จัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสุขาภิบาลขึ้น การปกครองรูปแบบนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากขึ้น เท่ากับเป็นการปูพื้นความรู้พื้นฐานทางด้านการปกครองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง
กล่าวโดยสรุปเรื่องการปกครองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีการติดต่อกับฝรั่ง เพราะศึกระหว่างไทยกับพม่าได้ลดน้อยลงไป ดังนั้นในสมัยรัชการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการติดต่อกับอังกฤษและมีการติดต่อมากขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในด้านการทหารก็มีการฝึกทหารแบบยุโรปด้วยการว่าจ้าง ร้อยเอกอิมเปย์และนายทหารอังกฤษอีกหลายคนมาฝึกในด้านพลเรือนมีการปรับปรุงศาลและระบบกฎหมายการต่างประเทศ การคมนาคม เป็นต้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าข้าราชการได้มีโอกาส ได้รับการพัฒนามากกว่าประชาชนทั่วไป ถ้าประชาชนคนใดต้องการที่จะได้รับการพัฒนาก็จะต้องเข้ามารับราชการและศึกษา พอมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองในปีพ.ศ. ๒๔๓๕ ที่มีการตั้งกระทรวง จัดการปกครองระบบเทศาภิบาล ถือเป็นจุดกำเนิดของการปกครองและบริหารราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามแนวคิดตะวันตก ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้บทบาททางทหารมากขึ้น โดยการส่งทหารไปรบในประเทศยุโรปด้วยการเข้าร่วมกับพันธมิตร เมื่อกองทัพพันธมิตรได้รับ ชัยชนะ ประเทศไทยก็สามารถแก้ไขสนธิสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างชาติได้ ทำให้ทหารไทยได้รับการยกย่องว่าได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี ในสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปลดข้าราชการให้มีจำนวนน้อยลงเพื่อการประหยัด ทำให้ข้าราชการโดยเฉพาะทหารไม่พอใจ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาภายหลัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้วิกฤติการณ์ทางการเมืองขึ้นอีก เพราะสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลดข้าราชการออกมากขึ้นรวมบรรดานายทหารชั้นนำก็ถูกลดขั้นเงินเดือนด้วย เช่น พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นต้น เหตุนี้จึงกลายเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่ง ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น